ภาษีที่คนทำหอพัก อพาร์ทเม้นท์ควรรู้
การทำธุรกิจไม่ว่าจะรูปแบบไหนก็ตามจำเป็นที่จะต้องเสียภาษี ซึ่งธุรกิจแต่ละแบบก็จะเสียภาษีที่แตกต่างกันไปและแน่นอนว่า ธุรกิจอสังหา ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจหอพัก ธุรกิจอพาร์ทเม้นท์ ธุรกิจอสังหาฯ ปล่อยเช่า ก็ต้องเสียภาษีเช่นเดียวกัน การทำธุรกิจหอพักหรืออสังหาฯ ให้เช่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากหากเรามีความรู้มากพอและมีการวางแผนกับธุรกิจของเราให้ดี ดังนั้นใครที่กำลังลงทุนกับธุรกิจนี้อยู่หรือเป็นมือใหม่ควรที่จะต้องรู้จักและศึกษาเกี่ยวกับภาษีให้มากขึ้นด้วย
ธุรกิจปล่อยหอพักอพาร์ทเม้นท์ ต้องเสียภาษีอะไรบ้าง?
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้นหอพักหรืออพาร์ทเม้นท์ ถือเป็นอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ใช้ต่อเนื่อง ซึ่งใช้หาผลประโยชน์โดยใช้เป็นสถานประกอบการพาณิชย์ต่าง ๆ ให้เช่า หรือผู้อื่นอยู่อาศัย อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินกับเทศบาล
อัตราภาษี
– ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปี
– อัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี ค่าภาษี = ค่ารายปี x 12.5
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
อพาร์ทเม้นท์หรือหอพัก ถือเป็นธุรกิจที่มีการบริการห้องเช่า ห้องพัก จึงต้องมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
อัตราภาษี
– รายได้ค่าเช่าอสังหาฯ ยกเว้น vat
– รายได้ค่าเช่าเฟอร์นิเจอร์และสิ่งอำนวยความสะดวก
– รายได้ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเตอร์เน็ต
หากรายได้สิ่งอำนวยความสะดวกและค่าน้ำค่าไฟรวมกันแล้วเกิน 1.8 ล้าน บาทต่อปี จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีเงินได้และภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การเปิดธุรกิจให้เช่าอสังหาฯ สามารถเลือกได้ว่าจะประกอบกิจการในนามบุคคลธรรมดา หรือในนามนิติบุคคล ซึ่งจะเสียภาษีต่างกัน
ทำธุรกิจรูปแบบ “บุคคลธรรมดา”
รูปแบบนี้ส่วนมากจะเป็นกิจการขนาดเล็ก หรือในลักษณะของห้างหุ้นส่วนสามัญ (ไม่ได้จดทะเบียน) ซึ่งมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ตกลงทำธุรกิจและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน แต่มีสภาพเป็นบุคคลธรรมดา
กิจการรูปแบบนี้แม้ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี แต่จะต้องจัดทำรายงานเงินสดรับ จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการทราบถึงรายได้ รายจ่าย ผลกําไรหรือขาดทุนจากการดำเนินธุรกิจ และใช้เป็นหลักฐานประกอบการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทำธุรกิจรูปแบบ “นิติบุคคล”
ธุรกิจในรูปแบบ “นิติบุคคล” จะมีทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รูปแบบนี้จะต้องมีการจัดทำบัญชีตามมาตรฐานบัญชี พร้อมทั้งมีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี แน่นอนว่า ธุรกิจในรูปแบบนี้ย่อมมีความน่าเชื่อถือมากกว่า ส่งผลให้การขยายกิจการ การติดต่อกับลูกค้า หรือแม้แต่การเข้าถึงแหล่งเงินทุน สามารถทำได้ง่ายกว่าเช่นกัน
อัตราภาษี
บุคคลธรรมดา : สำหรับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณภาษีมี 2 วิธี
วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า (เงินได้สุทธิ = รายได้ – รายจ่าย – ค่าลดหย่อน)
วิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือน หรือค่าจ้างแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5%
นิติบุคคล : ผู้ประกอบการจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิ (รายได้-รายจ่าย) อัตราภาษี หากเป็นนิติบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 20% สำหรับ SME มีการยกเว้น/ลดหย่อน อัตราภาษีในลักษณะขั้นบันได สูงสุดไม่เกิน 20% ในกรณีขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีและยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรปีต่อไปได้สูงสุดถึง 5 ปีด้วย
(สำหรับ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี)
จะเห็นได้ว่าระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะแตกต่างกันตามรูปแบบของธุรกิจ ลองศึกษาและเรียนรู้ว่าธุรกิจของเราอยู่ในรูปแบบใดและทำให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ ไม่ว่าคุณจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม การศึกษาข้อมูลเกี่ยวภาษีเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วล้วนจะเป็นประโยชน์ต่อเราและธุรกิจของเราทั้งนั้น
ขอบคุณที่มา : prosoft